พ่อเทพ

พ่อเทพ

จั่วหัวบทความว่า พ่อเทพ ในวันนี้มิได้หมายถึงพ่อเทพแห่งกปปส หรือ พ่อเทพโพธิ์งามเจ้าของขนมเปี๊ยะแบรนด์เนม ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่หมายถึงเทวดาตัวพ่อหรือเจ้าสวรรค์นามว่า ท้าวสักกะ    ในตำราทางพระพุทธศาสนามักจะเรียกว่าจอมเทพ คือผู้เป็นใหญ่ในเทพทั้งปวง มีความรู้ความสามารถสูงเวลาคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งสามารถขยายความได้เป็นพันนัย ที่เรียกภาษาวัดว่า ท้าวสหัสสเนตรหรือท้าวพันตานั่นเอง เพราะคำบาลีว่า สหัสสะ แปลว่าพัน เนตรแปลว่า ตา ท้าวสหัสสเนตรจึงแปลว่าท้าวพันตา

มีเรื่องเล่าในวรรณกรรมภาษาบาลีว่า คราวหนึ่งมีท่านผู้ใฝ่รู้ท่านหนึ่ง นามว่า มหาลี เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า ได้ทราบว่า พระองค์ได้เคยพบท้าวสักกะหรือพระอินทร์บ่อยๆจะเป็นเพียงรูปเปรียบที่จินตนาการไปเองหรือว่า เป็นพระอินทร์จริงๆ

พระพุทธเจ้าตอบว่า ตถาคตมิเพียงแต่เคยพบพระอินทร์เท่านั้น แต่ยังรู้ด้วยว่า ก่อนที่จะกินตำแหน่งพระอินทร์เป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ประกอบกรรมใดไวัด้วย

ท่านมหาลีได้ฟังพระพุทธวจนะแล้ว เกิดความอยากรู้อยากเห็นตามวิสัยปราชญ์ขึ้นมาทันที    จึงกราบทูลถามต่อไปว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะไปดำรงตำแหน่งท้าวสักกะได้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จะต้องปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าวัตตบท 7 ประการจึงจะเข้าถึงตำแหน่งท้าวสักกะได้ โดยมิต้องมีใครดลบันดาลเลย    การเป็นเทวดาผู้สูงศักดิ์ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น เป็นด้วยการปฏิบัติให้ครบถ้วนไม่สามารถเป็นได้ด้วยการติดสินบน ประจบประแจงหรืออ้อนวอนบวงสรวงแต่อย่างใด

ตรงนี้ชี้ชัดลงไปว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทปฏิบัตินิยม มิใช่เทวนิยม เพราะแม้จะมีเรื่องเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ความเป็นเทวดาต้องมาจากการปฏิบัติธรรม มิใช่เป็นขึ้นมาเองลอยๆ โดยหาที่มาไม่พบ

เส้นทางสู่เจ้าสวรรค์หรือจอมเทพ 7 ประการคือ

  1. เลี้ยงดูมารดาบิดาตลอดชีวิต พูดง่ายๆ ว่า เส้นทางสู่ตำแหน่งเทวดาระดับลูกเทพชั้นต่างๆ หรือพ่อเทพต้องเริ่มต้นที่ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าก่อน ความกตัญญูกตเวทีคือก้าวแรกสู่ความเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ในพระพุทธวจนะนี้เน้นเสียด้วยว่าต้องเลี้ยงพ่อแม่ บอกเวลาไว้ด้วยว่า ตลอดชีวิต    คำว่าตลอดชีวิตนี้กำหนดวันเดือนปีไม่ได้พูดตามภาษาวัยรุ่นว่า เลี้ยงให้ตายกันไปข้างหนึ่ง    ถ้าผู้เลี้ยงป่วยไข้หรือเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัยกระทันหัน ตายเสียก่อนก็หยุดกัน    แต่ถ้าผู้เลี้ยงอายุยืนก็ต้องเลี้ยงดูกันจนวาระสุดท้าย ผลดีของการปฏิบัติธรรมข้อนี้ที่เห็นชัดๆ คือ ลูกหลานเป็นผู้จัดสวัสดิการให้พ่อแม่ เป็นการพึ่งตนเองบนพื้นฐานแห่งคุณธรรมที่จะนำให้ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง ไม่ต้องอาศัยรัฐสวัสดิการ แต่อาศัยธรรมสวัสดิการ
  2. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ตลอดชีวิต ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเสน่ห์ ความแข็งกระด้างเป็นเสนียด    การเพิ่มเสน่ห์ให้แก่ชีวิตเริ่มก้าวแรกด้วยการแสดงความอ่อนโยนแก่ญาติสนิท จากนั้นจึงขยายไปสู่สังคม     คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนใครเห็นก็รักชื่นชมนับถืออยากผูกมิตรเป็นเพื่อนสนิท เพราะคบหาแล้วร่มเย็นเป็นสุขเป็นมงคลแก่คนคบ    คนอ่อนโยนเปรียบเหมือนรวงข้าวที่เต็ม ส่วนคนแข็งกระด้างเหมือนรวงข้าวลีบ    คนอ่อนโยนเหมือนขวดที่เต็มด้วยน้ำ ส่วนคนแข็งกระด้างเหมือนขวดน้ำที่พร่องน้ำ     คนอ่อนโยนเหมือนเงินที่เต็มบาท คนแข็งกระด้างเหมือนเงินที่ไม่เต็มบาท     สังคมจึงมักเรียกคนอ่อนโยนว่าคนมีบารมีเต็มเปี่ยม เรียกคนก้าวร้าวว่าคนไม่เต็มบาท     คุณธรรมของพระอินทร์ข้อนี้เป็นเครื่องพัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างดี
  3. พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ก่อนพูดจาอ่อนหวาน เป็นการแสดงความอ่อนโยนอีกแบบหนึ่งที่ใครได้สนทนาด้วยแล้วจะรู้สึกประทับใจ พระพุทธเจ้าได้สอนคำหวานไว้สองแบบคือหวานแบบดอกไม้เรียกว่าปุปผภาณี คือลักษณะการใช้ถ้อยคำที่มุ่งเน้นความไพเราะ สร้างความพอใจให้ผู้ฟัง ส่วนอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า มธุรภาณี หวานปานน้ำผึ้ง คือ การพูดที่ประกอบไปด้วยคำหวานมีความจริง มีเหตุผลประกอบครบถ้วน มีหลักฐานอ้างอิง อีกทั้งพูดถูกกาลเวลา บุคคลและสถานที่ วาจาแบบนี้พูดแล้วเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
  4. ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต คือไม่ใช้วาจาทำร้ายผู้อื่นโดยการยกรูปพรรณสัณฐาน ปมด้อยการศึกษา สถานศึกษา พ่อแม่ ชาติตระกูลขึ้นมากล่าวให้สังคมได้รู้ว่ากำลังจะว่าใคร เพื่อให้ผู้ที่ถูกมุ่งร้ายต้องเจ็บปวดใจ  ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องเจ็บลึก เจ็บทน เจ็บนานมากกว่าความเจ็บกาย   พระพุทธเจ้าสอนไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นพระธรรมเทศนาที่สำคัญยิ่งว่า การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะไม่ทำร้ายและไม่กล่าวร้ายใครให้เจ็บกายและเจ็บใจ
  5. ยินดีในการแบ่งปันทำทานตลอดชีวิต คนที่ทำทานได้เป็นประจำต้องผ่านด่านหลายด่าน เช่นด่านความตระหนี่ซึ่งหนาแน่นมากทำลายยากที่สุด จนพระพุทธเจ้าสอนว่า ทางที่จะชนะความตระหนี่ได้ก็ด้วยการให้ทานเท่านั้น ฟังๆ ดูความเข้มแข็งของตระหนี่นี้ไม่ธรรมดา ใครจะข้ามความตระหนี่ได้ต้องรบกันจนรู้แพ้รู้ชนะทีเดียว นอกจากนี้การให้ทานเป็นการสร้างเสริมบุคลิกภาพ สร้างการยอมรับของคนรอบข้างและสังคมดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก เรื่องนี้จริงที่สุด พิสูจน์ได้ในทุกสังคม เพราะการให้มีถึงสามมิติใหญ่ๆ คือ การให้วัตถุสิ่งของ การให้คำแนะนำสั่งสอนและการให้อภัย จะให้สิ่งใดนั้นต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ทุกมิติรอบด้าน จึงจะถูกต้องดีงามตามหลักพระพุทธวจนะที่ว่า พระตถาคตทรงสรรเสริญทานที่วิจัยอย่างถ้วนถี่แล้วจึงให้   จะให้อะไร ให้เมื่อไร เพื่ออะไร วิจัยดีๆ    นอกจากนี้ การให้ทานยังเป็นการผูกมิตรดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  การให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ การให้ที่ถูกต้องด้วยสิ่งของ ถูกต้องตามกาลเวลา พระบรมศาสดาสรรเสริญ
  6. พูดความจริงตลอดชีวิต การพูดความจริงนี้สำคัญมากต่อการขึ้นสวรรค์ เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่า คนโกหกนั้นตกนรก ผลดีของคนพูดแต่ความจริงในชาตินี้ มีคนเชื่อถือถ้อยคำ ไม่มีใครใส่ร้าย มีแต่คนชื่นชม ชื่อเสียงปรากฏนานแสนนาน ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ถ้าเป็นผู้นำก็มีประชาชนมากมายพร้อมที่จะเดินตามเป็นการเสริมภาวะผู้นำให้เด่นยิ่งขึ้น ไม่มีชนชาติใดที่เชื่อฟังเคารพผู้นำที่พูดโกหกเป็นประจำ คนโกหกอย่าว่าแต่จะไปเป็นหัวหน้าเทพในสวรรค์เลยแม้แต่จะไปเป็นหัวหน้าครอบครัวก็ยากเสียแล้ว  คนพูดคำจริงมีสาระจะปกครองคนพูดจาเหลาะแหละไร้สาระได้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า พึงชนะคนเหลาะแหละด้วยการพูดวาจาสัตย์หรือคำจริงเท่านั้น
  7. ไม่โกรธตลอดชีวิต ผู้ปฏิบัติธรรมข้อนี้ได้ย่อมมีความสุขทั้งชาติ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข  คนที่อธิษฐานจิตว่าจะไม่โกรธใครเลย ไม่พูดจาด้วยความโกรธ หรือไม่แสดงอาการโกรธเกรี้ยวใคร เป็นผู้นำองค์กรเล็กหรือองค์กรใหญ่ ย่อมทำให้ผู้ร่วมชายคาหรือร่วมองค์กรทำงานด้วยนอนตาหลับ ไม่ต้องสะดุ้งผวาว่า เจ้านายจะแปลงร่างเป็นมนุสสยักโข (กายเป็นมนุษย์ ใจเป็นยักษ์ เพราะมีโทสะ) อีกเมื่อไร คนไม่ขี้โกรธไม่จุดไฟเผาตนเองและไม่จุดไฟเผาผู้อื่น แต่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ใครเข้าไปอยู่อาศัยด้วยแล้ว รู้สึกอบอุ่นร่มเย็นเป็นสุข ผู้ที่ไม่ขี้โกรธ เป็นมนุษย์ก็เป็นผู้นำที่ทำให้องค์กรเข้มแข็ง เป็นผู้นำสวรรค์ก็ทำให้สวรรค์ไม่ล่ม เป็นที่นับถือทั้งเทวดาและมนุษย์

กระแสลูกเทพมาเร็วไปเร็วตามที่หลายๆ คนได้คาดการณ์ไว้    กระแสความนิยมลูกเทพเริ่มตกต่ำอย่างรวดเร็ว เมื่อเจ้าของลูกเทพหลายตัวได้แอบนำลูกเทพไปทิ้งตามโคนต้นโพธิ์หรือตามกองขยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกษียณแล้ว เช่น ศาลพระภูมิหัก หิ้งพระหัก นางกวักหรือรูปเทพเจ้าหัวขาด ขาขาด แขนขาดพิกลพิการ

บางรายลุ่มหลงลูกเทพกับเขาไปชั่วคราว พอได้สติกลับฟื้นคืนสมปฤดี รู้ดี รู้ชอบได้บ้าง ก็รีบนำตุ๊กตาลูกเทพไปทิ้งโดยไม่บอกให้ใครทราบ เพราะกลัวเพื่อนจะหาว่าโง่    แต่บางคนได้สติคืนมาแล้วกลับสลบกลับไปอีกคือ แทนที่จะนำตุ๊กตาลูกเทพไปทิ้งง่ายๆ กลับต้องจัดงานศพให้ลูกเทพโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดศพลูกเทพอีก    คราวนี้เรียกว่า ตายหมู่เลยทีเดียว ลูกเทพก็ตาย เจ้าของลูกเทพและพระก็ตาย ตามพระพุทธวจนะที่ว่า ผู้ประมาทแล้วแม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือตายแล้ว

ความประมาทคือ การอยู่ปราศจากสติ คือไม่มีสติเพียงพอที่จะแยกแยะว่า อะไรเป็น อะไรถูก ไม่สามารถแยกแยะว่า อะไรจริง อะไรปลอม แต่เชื่ออย่างลุ่มหลงสับสนปนเปกันไปอย่างไร้สติ  จึงสอดคล้องกับพระพุทธวจนะที่ว่า คนขาดสติแม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายแล้ว

ชาวพุทธต้องมีความเมตตาต่อกัน การให้สติและการชี้ทางที่ถูกต้องจึงเป็นการแสดงความเมตตาที่ยั่งยืน    การตามใจและตอบสนองความต้องการอย่างไม่มีขอบเขตมิใช่ความเมตตา เช่นอุบาสกหรืออุบาสิกายืนอยู่ที่หน้าผาแล้วบอกพระว่า หน้าผานี้น่ากระโดดนะ กระโดดลงไปแล้วจะได้เห็นวิวจนถึงพื้นดิน    ถ้าพระเมตตาแก่ญาติโยมต้องบอกความจริงว่า หน้าผานี้ทิวทัศน์สวยงาม ถ้ายืนชมบนภูเขานี้ไม่เป็นไร แต่ถ้ากระโดดลงไปชมวิวก่อนจะถึงดินนั้นวิวสวยจริง

แต่ถ้าลงไปถึงดินแล้ว ไม่บาดเจ็บก็จะล้มตาย จึงไม่ควรกระโดดลงไปอย่างเด็ดขาด

การปฏิบัติต่อตุ๊กตาก็เหมือนกัน จงดูความงามของตุ๊กตา จงชื่นชมตุ๊กตาในฐานะที่เป็นงานศิลปะหรือประดิษฐกรรมของมนุษย์แต่ละชิ้นเพื่อความประทับใจและจรรโลงใจต่อไป ไม่มีใครว่าอะไร   แต่ถ้าเมื่อไรคิดว่าจะลงยันต์เสกตุ๊กตาให้มีชีวิต ให้มีฤทธิ์มีเดช เท่ากับตกเหวแห่งโมหะทันที

จงปล่อยตุ๊กตาให้เป็นตุ๊กตาเถอะ จงชื่นชมตุ๊กตาอย่างที่ควรชื่นชมเถอะ จงคงสถานตุ๊กตาให้เป็นของเล่นเพื่อพัฒนาจินตนาการของเด็กๆ ต่อไปเถอะ ผู้ใหญ่ที่โตๆ แล้วจงเติบโตต่อไปอย่าได้ลดวุฒิภาวะทั้งทางสมองและสติปัญญา ทั้งไอคิวและอีคิวให้ต่ำลงมากกว่านี้อีกเลย จงมีชีวิตอยู่เพื่อพัฒนาทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

หากมีความสนใจเรื่องเทวดา ก็ไม่ต้องอ้อนวอนบนบานศาลกล่าวเทพองค์ใด จงปฏิบัติวัตต

บททั้งเจ็ดประการนี้ เพื่อรับตำแหน่งเจ้าแห่งเทพด้วยตนเองเถิด    จงมาเป็นเทพเจ้าองค์จริงที่นี่เดี๋ยวนี้ ผ่านการปฏิบัติธรรมแห่งความเป็นเทพเจ้าโดยมิต้องผ่านการดลบันดาลจากเทพเจ้าองค์ใดเถิด    ขอเทพเจ้าที่มาจากการปฏิบัติวัตตบทนี้บังเกิดขึ้นเพื่อสร้างครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติโลกและจักรวาฬให้สุขสงบร่มเย็นโดยพลันเถิด

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 17.27 น.

เที่ยวบิน UA 7945  Los Angeles to Narita.

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา, วัดพุทธธรรมและวัดลอยฟ้า

www.buddhapanya.org & www.skytemple.org

Leave a Reply