สวัสดีปีใหม่ 2557

สวัสดีปีใหม่ 2557

 

พอปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ย่างเข้ามาแต่ละครั้ง คนที่รักเคารพและนับถือกัน นิยมส่งคำอวยพรในรูปแบบต่างๆ ให้แก่กันและกัน รูปแบบของคำอวยพรที่ใส่ลงในบัตรอวยพรล้วนเป็นถ้อยคำที่ให้กำลังใจแก่ผู้รับ ถ้อยคำที่ส่งไปว่า ขอให้มีความสุข ขอให้มีความสำเร็จ ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข จะฟังสักเท่าไรก็ไม่เคยเบื่อ เพราะฟังแล้วมีกำลังใจ มีความหวังและมีความสุขในทันที แม้จะเพียงชั่วขณะเวลาสั้นๆ หรือยาวนานก็ตาม ขอให้เป็นเวลาที่มีความสุขเถิด ล้วนเป็นเรื่องที่ดีมีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น

 

แม้ตามปกติเวลาที่เราพบกันจะทักทายว่า สวัสดี อยู่เป็นประจำ แต่พอถึงวันปีใหม่ เราจะทักทายกันเป็นพิเศษว่า สวัสดีปีใหม่

คำว่า สวัสดี หมายถึง  ความดี  ความงาม  ความเจริญรุ่งเรือง  ความก้าวหน้าในชีวิต หน้าที่ การงาน และครอบครัว

เมื่อกล่าวว่า สวัสดีปีใหม่ จึงหมายความว่า ขอความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรื่อง ความราบรื่น สดชื่น เบิกบาน ความคล่องแคล่วในการทำมาหากินจงมีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามานี้

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า ความสวัสดีจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม และพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเครื่องถึงซึ่งความสวัสดีไว้หลายที่หลายแห่ง แต่พอสรุปได้ดังนี้

 

  1. ความสวัสดี จะบังเกิดมีแก่ ผู้ที่ประพฤติสัปปุริสธรรม อันได้แก่ธรรมะสำหรับคนดี ประกอบด้วย รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้ชุมชนหรือสังคม ผู้ที่รู้จักสิ่งเหล่านี้อย่างดี แล้วปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่นและสังคม ย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในa20140118aชีวิต หน้าที่และการงานที่จะต้องเกี่ยวข้องประสานกับผู้อื่นในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
  2. ความสวัสดี จะบังเกิดมีแก่คนที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราว ข้อมูล และความรู้ต่างๆ มามากมาย มีความรู้รอบตัวและรอบด้านทั้งในด้านชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศีลธรรม ศาสนาและวัฒนธรรม  แล้วเลือกสรรค์นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
  3. ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ผู้มีปัญญา คือ ความรอบรู้ ในเรื่องที่จะหาปัจจัยมาบำรุงชีวิตให้มีสุขภาพดี รอดพ้นจากการเบียดเบียนของโรคภัยไข้เจ็บ มีความรอบรู้ในธรรมะเพียงพอที่จะนำมารักษาจิตให้รอดพ้นจากการครอบงำโดยอำนาจฝ่ายต่ำของกิเลส มีความรุ่งเรืองตามทำนองคลองธรรม ตามสมควรแก่ธรรมที่ได้ปฏิบัตินั้นๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการสามประการ คือ การฟัง การอ่าน การคิดพินิจ ตรึกตรองและการลงมือนำเอาสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ตรึกตรอง  แล้วมาปฏิบัติจนเกิดความชำนาญแคล่วคล่องว่องไวทั้งในเรื่องกายและเรื่องจิตอย่างสมดุล
  4. ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ ผู้ที่มีความพากเพียรอย่างสม่ำเสมอในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน การทำงานและการปฏิบัติธรรม  ต้องอาศัยความพากเพียรเครื่องเผากิเลสให้อ่อนกำลังลง   ความเพียรมากจะทำให้กำลังของกิเลสอ่อนกำลังลง เมื่อมีความเพียรมากถึงที่สุดที่เรียกว่า ตบะ ก็จะเผากิเลสให้หมดไปไม่เหลือ  ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้นแบบแห่งการใช้ความเพียรเครื่องเผากิเลสจนไม่เหลือแล้ว  จึงมีแต่ความสะอาด สว่างและสงบพบแต่ความสวัสดีเป็นนิรันดร์
  5. ความสวัสดีจะบังเกิดมีแก่ ผู้สำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในเวลาที่ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส จิตใจรับธรรมารมณ์  การสำรวมคือ การใช้สติคอยรักษาใจมิให้หวั่นไหว มิให้เศร้าหมอง มิให้ประมาทมัวเมา เมื่อกระทบแต่ละครั้ง เพื่อรักษาความปกติของจิตไว้อันนำไปสู่การพัฒนาจิตให้มีความ มั่นคง บริสุทธิ์ อ่อนโยน มีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. ความสวัสดีจักบังเกิดมีแก่ผู้มีสติ คือ ความใคร่ครวญก่อนทำ ก่อนพูดและก่อนคิด เพื่อให้การทำ การพูดและการคิดนั้น เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงาม สะดวก ราบรื่น มีความเจริญรุ่งเรือง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติ มโต สทา ภัททัง ผู้มีสติ เป็นผู้เจริญทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญผู้มีสติว่าเป็นผู้เจริญ แต่มิได้ตรัสว่า ผู้มีทรัพย์สินมากเป็นผู้เจริญ  เพราะผู้มีทรัพย์สินมากๆ แต่ขาดสติ  ย่อมใช้ทรัพย์สินที่มากมายเหล่านั้นเพื่อความเสื่อมของตนและสังคมส่วนรวมได้ แต่ผู้มีสติ มีความยั้งคิดดีๆ ไม่ว่า จะยากจนหรือมั่งมี ย่อมไม่กระทำความผิด ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญคนมีสติว่า เป็นผู้เจริญที่ไม่มีวันเสื่อมได้เลย
  7. ความสวัสดี ย่อมบังเกิดมีแก่คนที่ปล่อยวางได้ มนุษย์เกิดมามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเท่าเทียมกัน มีความสามารถในการรับรู้ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจเท่าๆ กัน      แต่มนุษย์ทุกคน มีความสุขและความทุกข์ไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญที่เป็นดัชนีชี้วัดว่า ใครจะมีความสุขหรือความทุกข์ มีความหนักใจหรือเบาใจมากน้อยกว่ากันอยู่ที่ว่า  เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส จิตรับธรรมารมณ์แล้ว ยึดมั่นหรือปล่อยวางได้มากกว่ากัน ถ้ายึดมั่นมากก็ทุกข์มากหนักมาก ถ้าปล่อยวางได้มาก ก็จะเบากายเบาใจมากและความทุกข์ลดน้อยลงตามขณะจิตที่ได้ปล่อยวางนั้น เพราะความยึดมั่นนั้นหนัก การปล่อยวางนั้นเบา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น  ความไม่ยึดมั่นหรือความปล่อยวางนี่เองจะนำความสวัสดี คือ ความโล่ง โปร่งเบามาสู่ชีวิต ไม่ว่าจะปีใหม่หรือในวันเวลาใดๆ ก็ตาม ความจริงข้อนี้ก็จะจริงอยู่ตลอดเวลา

การส่งคำอวยพรให้แก่กันในวันปีใหม่ก็เป็นเรื่องดีที่น่ากระทำเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน แต่ถ้าจะทำใจให้มีกำลังและนำชีวิตสู่ความสวัสดีอย่างยั่งยืน พึ่งตนเองได้ ก็ต้องนำธรรมะดังกล่าวนี้มาปฏิบัติ  แล้วจะพบกับความสวัดีมีสุขอย่างยั่งยืนแท้จริง

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน จงมีความรักธรรม ใคร่ธรรม พากเพียรในการปฏิบัติธรรมอันจะนำมาซึ่งความสุขตามสมควรแก่ธรรม ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติอย่างดีแล้ว จงเป็นพลวปัจจัยให้พบกัยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกขณะแห่งชีวิตเทอญ

 

 

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2556

 

เวลา 10.30 น.

ดร.พระมหาจรรยา  สุทธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญาและวัดลอยฟ้า

www.buddhapanya.org & www.skytemple.org