สีกรรม

สีกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สีของกรรมมีสี่สี คือ กรรมดำ กรรมขาว กรรมดำบ้าง ขาวบ้าง และกรรมไม่ดำไม่ขาว       a20140124aกรรมแต่ละอย่างก็ให้ผลตามสีของแต่ละกรรม คือ กรรมดำก็ให้ผลดำ กรรมขาวก็ให้ผลขาว กรรมขาวบ้างดำบ้าง ก็ให้ผลดำบ้างขาวบ้าง ส่วนกรรมไม่ดำไม่ขาว เหนือกรรมหรือสิ้นกรรม มีแต่ความบริสุทธิ์

ผุดผ่อง นอกเหตุเหนือผล

ทำกรรมดำได้อย่างไรบ้าง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมที่ประกอบไปด้วยการเบียดเบียน เป็นกรรมดำ

a20140124a-1กรรมที่นับว่า เป็นกรรมดำได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม นี่เป็นกรรมดำทางกาย เรียกว่า กายทุจริต       กรรมดำทางวาจาได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ      กรรมดำทางใจได้แก่ โลภ อยากได้ของเขา พยาบาท คิดปองร้ายเขา มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม        ผู้ใดประกอบกรรมฝ่ายดำ ย่อมได้รับผลเป็นความทุกข์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

กรรมขาว ทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม      กรรมขาวทางวาจา ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ      กรรมขาวทางใจได้แก่ ไม่โลภ อยากได้ของเขา ไม่พยาบาทคิดปอง

ร้ายเขา   สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม      กรรมขาวเหล่านี้มีผลเป็นความสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

ส่วนกรรมขาวบ้าง ดำบ้าง ก็มีอยู่ในชีวิตของผู้ที่จิตใจยังไม่เข้มแข็ง  ยังไม่หมดสิ้นอาวสะกิเลส  ทำกรรมขาวบ้าง  ดำบ้าง  มากบ้าง น้อยบ้าง สลับกันไป ขึ้นอยู่กับจิตใจที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอ

พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางแห่งความสิ้นกรรม หรือ กรรมไม่ดำไม่ขาว คือ  อริยมรรคมีองค์แปดประกอบไปด้วย

  1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นอย่างถูกต้อง ในเรื่องของทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไปแห่งทุกข์a20140124a-2
  2. สัมมาสังกัปปะ  ความดำริถูกต้อง คือ ไม่ดำริในกาม ไม่พยาบาท และไม่เบียดเบียน
  3. สัมมาวาจา  การพูดจาถูกต้อง คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ  ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
  4. สัมมากัมมันตะ  ทำการงานถูกต้องที่ไม่เกี่ยวข้องกับ การฆ่าสัตว์  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม
  5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง  ไม่เกี่ยวข้องด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ผิดทั้งหลาย  เช่น ไม่ค้าสัตว์ ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้ายาพิษ ไม่ค้ายาเสพติด ไม่ค้าสุราเมรัย  ไม่เปิดบ่อนการพนัน  ไม่เล่นการพนัน
  6. สัมมาวายามะ  ความพากเพียรอย่างถูกต้อง คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในชีวิต  เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว  เพียรสร้างกุศล  เพียรรักษากุศลที่สร้างแล้วให้มียิ่งๆ ขึ้นไป
  7. สัมมาสติ  ความระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างถูกต้อง  อันมีสติปัฏฐานเป็นหลัก คือ กายานุปัสสนา การตามดู ตามรู้ และตามเห็นกายในกาย      เวทนานุปัสสนา การตามดู ตามรู้ และ ตามเห็นเวทนาในเวทนา คือ ความรู้สึกชอบ ชัง หรือไม่ชอบไม่ชัง     จิตตานุปัสสนา  คือ ตามดู ตามรู้ และ ตามเห็นจิตว่า เศร้าหมอง ผ่องแผ้ว ซึมเซาเซ็งหรือสดชื่นเช่นไร     ธัมมานุปัสสนา มองเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
  8. สัมมาสมาธิ   มีความตั้งใจอย่างถูกต้อง   ประกอบด้วยใจที่มั่นคง ไม่หวั่น

ไหว บริสุทธิ์ สดใส ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยน พร้อมที่จะทำงาน คือ ยกระ

ดับขึ้นสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนได้ยาก ไร้ตัวตนที่จะเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า เป็นเรา เป็นตัวเรา และเป็นของเรา ประจักษ์แจ้งแทงตลอดความจริงสูงสุดว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

อริยมรรคมีองค์แปดที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระกรุณาแก่สรรพสัตว์ทรงแสดงไว้  นับได้ว่า เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว  เป็นทางสู่ความหมดสิ้นแห่งกรรม ผู้ที่ต้อง

การแก้กรรมและตัดกรรมดำ ที่รกรุงรังออกไปจากชีวิต เพื่อให้ชีวิตเบาสบาย  พึง

เดินตามทางสายเอก คือ อริยมรรคมีองค์แปดนี้แล เป็นการตัดกรรมและแก้กรรมด้วยตนเองที่ถูก  ตรงตามหลักแห่งพุทธธรรม  จะถึงซึ่งความสิ้นกรรม a20140124a-3หมดกรรมตามสมควรแก่ธรรมที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามแล้ว  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  “ ธัมโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ ” ธรรมที่ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

วันที่ 20 มกราคม 2557 เวลา 6.52 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญาและวัดลอยฟ้า

www.buddhapanya.org & www.skytemple.org