Monthly Archives: October 2018

เมื่อจิตสดใส ทำอะไรก็มีความสุข

 พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า ใจประเสริฐ ใจเป็นตัวนำความสำเร็จ” ถ้าใจผ่องใส ทำ พูด หรือ คิดอะไร ก็จะดีไปหมด ตรงกับคติแบบไทยๆว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ใครที่ทำงานกับเจ้านายดี ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งๆ ขึ้นไป เหมือนกับใจดีที่สั่งการให้กายทำอะไร วาจาพูดอะไร ล้วนเป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นประโยชน์ตนและเป็นประโยชน์ผู้อื่นทั้งสิ้น

เมื่อใจผ่องใส เข้านอนเวลาไหนก็หลับง่ายหลับสบายเวลานั้น คนที่จิตใจดีจิตใจผ่องใส แม้ไม่ได้เข้าห้องนอน ไม่ได้เตรียมที่นอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็สามารถหลับได้ทั้งๆ ที่ยังมิได้นอน เช่น เวลานั่งฟังธรรมแล้วหลับ นั่งรถโดยสารไปไหนมาไหน เดี๋ยวเดียวก็หลับ ทั้งๆ ที่ท่านั่งก็ไม่สะดวกสบาย แต่เมื่อใจสบายหลับง่ายหลับลึก คนที่หลับดีหลับง่ายหลับลึกนับว่าเป็นคนที่จิตใจผ่องใส ไม่ขุ่นมัวทีเดียว

ยามตื่นนอนตอนเช้า ถ้าตื่นขึ้นมาด้วยจิตใจผ่องใสไม่มีอะไรขุ่นข้องค้างใจ ยามตื่นนอนก็รู้สึกสดชื่น การเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำกิจวัตรประจำวันก็ราบรื่นลื่นไหลสะดวกสบาย ทุกอย่างเป็นไปด้วยความพอใจและเป็นสุข สังเกตให้ดีๆ วันที่ใจดีเป็นวันที่มีความสุขและความสำเร็จมากกว่าวันที่ใจร้ายขุ่นมัว

คนดีมีจิตผ่องใส เวลาทำอาหารรับประทานก็ทำได้สวย ดี มีคุณภาพ เวลาใครรับประทานอาหารอร่อยๆ มักจะถามว่า คนปรุงอาหารใส่อะไรเป็นพิเศษลงไปในอาหารนะจึงอร่อยเช่นนี้ มักจะมีคำตอบว่า นอกจากเครื่องปรุงครบถ้วนแล้วยังใส่น้ำใจลงไปด้วย น้ำใจที่ว่านี้ คือ น้ำใจที่ใสสะอาดนั้นเอง เพราะเมื่อใจใสสะอาด ความเคลื่อนไหวในการปรุงอาหารต่างๆ ก็ดำเนินไปอย่างพิถีพิถันถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด

เมื่อรับประทานอาหารก็เช่นกัน ในวันที่ใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว อาหารที่วางอยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะได้รับการปรุงจากผู้ปรุงมีฝีมือขนาดไหน จะปรุงเพียงง่ายๆ หรือปรุงอย่างพิถีพิถัน ก็รับประทานได้อร่อยมีความสุข จิตใจที่ผ่องใสรับประทานอะไรก็อร่อย จิตผ่องใสรวบรวมเครื่องปรุงอันเป็นทิพย์เอาไว้ครบครัน ไม่ว่าจะรับประทานอาหารของชาติไหน มีความพิถีพิถันในการปรุงมากน้อยเพียงใด แต่สารทิพย์จากจิตใจผ่องใสทำให้อาหารอร่อยทุกครั้งที่ลิ้นได้รับรส ลิ้นจึงทำงานตามสั่งของจิตใจที่เป็นทิพย์แล้วแสดงผลออกมาเป็นอาหารทิพย์ที่แสนอร่อย

เวลาขับรถไปทำงาน วันใดที่ตื่นเช้าขึ้นมาจิตใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว การขับรถ หรือการออกเดินทางด้วยรถเมล์ประจำทาง ถ้าหากขับรถหรือนั่งรถด้วยจิตใจที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัวแล้ว ไม่ว่าจะนั่งรถยี่ห้อใด จะใกล้จะไกลแค่ไหน ความสุขก็ตามไปทุกหนทุกแห่ง ไม่มีข้อจำกัดหรืออะไรจะขวางกั้นได้ เมื่อใจผ่องใสไม่ถูกกิเลสทำให้ขุ่นมัว ต้องมีความสุขแน่ๆ แม้ฟ้าก็มิอาจกั้น เป็นความสุขแบบอกาลิโก สุขไม่เลือกที่ สุขไม่เลือกเวลา ขอเพียงจิตใจผ่องใสแล้วสุขจะมาหาทันที   

เวลาทำงาน ไม่ว่างานอะไร หากทำด้วยจิตใจที่ผ่องใส การทำงานนั้นจะทำด้วยความสุข บรรดาคณาจารย์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยได้กล่าวเรื่องการทำงานเอาไว้หลายแห่ง เช่น หลวงพ่อปัญญานันทะกล่าวว่างาน คือ ชีวิต ชีวิต คืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน”

ตรงนี้ต้องขยายความว่า พระมหาเถระระดับหลวงพ่อปัญญานันทะมีจิตสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านรักการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ตลอดเวลา ท่านจึงบอกว่า ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ความรู้สึกสนุกและเป็นสุขกับงานต้องมาจากจิตใจที่ผ่องใสเท่านั้น ถ้าขณะทำงานจิตใจผ่องใส เป็นสุขแน่ๆ แต่ถ้าทำงานไปบ่นไป วิตกกังวลไป เกลียดชังแก่งแย่งกันไป ทำงานไปนานเท่าไรคงไม่พานพบความสุขเป็นแน่แท้ หลวงพ่อพุทธทาสก็กล่าวว่า “สุขแท้มีแต่ที่งาน” ท่านคือพยานปากเอกที่ว่า “สุขแท้มีแต่ที่งาน” ผลงานของท่านออกมามากมาย กล่าวกันว่า ถ้านำเอาหนังสือที่ท่านประพันธ์และจากการถอดคำที่ท่านแสดงธรรม มาเผาร่างท่าน เผาท่านเหลือแต่เถ้าถ่านหนังสือก็ยังเหลืออีกมหาศาล คนรักงานเป็นสุขกับงานอย่างท่าน มาจากจิตของท่านผ่องใสเต็มที่ไม่มีขุ่นมัวนั้นเอง นอกจากนี้เรามักจะเห็นว่า ชาวนาชาวสวนทำงานเหนื่อยทั้งวัน พอตอนเย็นเดินทางกลับบ้าน ยังส่งเสียงร้องเพลงกันลั่นทุ่งได้อย่างสบาย ทั้งเหนื่อยทั้งหิว ร้องเพลงเข้าไปได้อย่างไร ก็ร้องมาจากจิตที่สดชื่นเบิกบานนั่นเอง นี่แหละพยานที่จะยืนยันว่า สุขแท้มีแต่ที่งาน เพราะในที่ทำงานมีเสียงเพลงลอยออกมาให้ได้ยิน

ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องเล่าว่า หญิงคนหนึ่งตำข้าวไปด้วยร้องเพลงไปด้วยอย่างมีความสุข มีพระสงฆ์เดินธุดงค์ผ่านมาได้ฟังเพลงของหญิงตำข้าวคนนั้น บรรลุธรรม เสียงเพลงจากเธอก็ออกมาจากจิตที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัว แม้เวลาที่เธอทำงานหนักอาบเหงื่อเปียกโชก แต่เมื่อจิตของเธอผ่องใส เธอจึงร้องเพลงออกมาได้ ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานไม่ทำให้คนที่จิตผ่องใสเป็นทุกข์ได้ จิตของเธอที่ผ่องใสอยู่เหนือความทุกข์แม้เวลาที่กำลังทำงานหนัก

หรือเวลาที่คนพายเรือให้ผู้เดินทางโดยทางแม่น้ำ แม้การพายเรือจะเหนื่อย แต่ใจไม่เหนื่อยตาม พายเรือไปร้องเพลงไปด้วย กลายเป็นเพลงเรือที่ร้องสืบต่อกันมาในบรรดาคนที่โปรดปรานการทำงานด้วยจิตใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว

มีคนชอบตั้งคำถามว่า ความสุขอยู่ที่ไหน หากพิจารณาตามธรรมข้อนี้แล้วตอบอย่างไม่ลังเลว่า ความสุขอยู่ที่ใจที่ไม่ขุ่นมัว จะหาความสุขอย่างไร หาจากใจที่ไม่ขุ่นมัว ข้อปฏิบัติเพื่อความสุขที่ทุกคนก็ทำได้คือ หลีกเลี่ยงการทำ การพูด และการคิดที่ทำให้จิตขุ่นมัว พยายามทำกิจกรรมที่ทำให้จิตผ่องใส รักษาจิตผ่องใสไว้อย่างมีคุณค่าเพราะเป็นที่มาแห่งความหมายของชีวิตทั้งปวง

สรุปว่า ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุข เมื่อปรารถนาความสุข จึงแสวงหาความสุขหลายๆ แบบตามที่ตนเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุข วิถีแห่งความสุขจึงไม่ใช่วิถีใดวิถีหนึ่งที่แน่นอนตายตัว จะเป็นวิธีใดก็ได้ ที่คิดทำพูดแล้ว จิตใจไม่ขุ่นมัว ไม่ทำลายความปกติและความผ่องใสแห่งจิตใจ กิจกรรมเหล่านั้นล้วนเป็นกิจกรรมนำมาซึ่งความสุขได้ รักษาใจไว้ให้ดีๆ เมื่อใจดี ความดีอื่นๆ จะไหลมาเทมาสู่ชีวิตตามความเหมาะสมแห่งเหตุปัจจัยเป็นแน่แท้

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 10.38 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

ความเป็นมาของผ้ากรานกฐิน

สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระภิกษุจำนวน 30 รูปจากเมืองปาเฐยยะ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่พอพระภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ระยะทางไกลจากเมืองสาวัตถี 6 โยชน์ วันเข้าพรรษาก็มาถึง พระภิกษุเหล่านั้นเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยเรื่องจำพรรษามาก จึงอธิษฐานเข้าพรรษากัน ณ เมืองสาเกต

ภิกษุเหล่านั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว แม้ฝนยังตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ก็มิได้ประหวั่นพรั่นพรึงต่อความเปียกปอนจากน้ำฝน หรือหนทางที่เต็มไปด้วยโคลนตมแต่อย่างใด ยังคงมีจิตใจมุ่งมั่นต่อการเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว ทุกรูปรีบเดินทางฝ่าฝนลุยโคลนด้วยความลำบากตรากตรำ จนไปถึงเมืองสาวัตถี จึงได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมตามความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้า แม้ผ้าผ่อนจะเปียกปอนไปด้วยน้ำฝน เปรอะเปื้อนด้วยโคลนตม แต่จิตใจผ่องใสไร้ความขุ่นมัวประดุจผ้าขี้ริ้วห่อมณีอันล้ำค่าฉะนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นที่เปียกปอนเปรอะเปื้อนด้วยโคลนตม จีวรเปียกปอนขาดรุ่งริ่ง เมื่อทรงปฏิสันถารถึงความเป็นอยู่ การเดินทาง และเรื่องราวต่างๆด้วยพระมหากรุณายิ่งแล้ว ทรงปรารภจีวรที่เก่าคร่ำคร่าของภิกษุเหล่านั้นเป็นต้นเหตุแล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้ว แสวงหาผ้าทำจีวรผืนใหม่ได้พร้อมด้วยทรงอนุญาตผ่อนปรนข้อปฏิบัติพระวินัยบางข้อ เกี่ยวกับจีวร อาหารและการเดินทางเป็นการชั่วคราว การผ่อนปรนพระวินัยดังกล่าวนี้เรียกว่า อานิสงส์กฐิน มีด้วยกัน 5 ข้อคือ

  1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ตามปกติเวลาพระภิกษุเดินทางออกจากอารามไปไหนต้องบอกลาพระภิกษุที่อยู่ในวัด เพื่อให้ทราบว่าจะไปไหน เวลาใครมาถามหาจะได้ให้ข้อมูลถูกต้องว่า ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ที่ใด
  2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ตามปกติเวลาที่พระภิกษุจะเดินทางไปไหนต้องนำจีวรไปครบทั้งสามผืนเรียกว่าไตรจีวร แต่พอได้รับอานิสงส์กฐินแล้ว เวลาเดินทางไกล พระภิกษุจะนำผ้าไปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ เพื่อมิให้เป็นภาระในการนำไป เป็นความจริงว่า การถือของมากชิ้นเวลาเดินทางไกล จะทำให้หนักเดินทางได้ล่าช้า เหนื่อยยากลำบาก แต่ถ้านำของใช้สอยไปน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็น จะเดินทางเบาสบายง่ายต่อการเคลื่อนย้าย
  3. ฉันคณโภชนะได้ ตามปกติพระภิกษุสงฆ์จะฉันในบาตรของตนๆ แต่พอได้รับอานิสงส์กฐินแล้วจะฉันอาหารร่วมกันเป็นวง เป็นกลุ่มกับเพื่อนสหธรรมิกได้
  4. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ ตามปกติพระสงฆ์จะใช้ผ้าเพียงสามผืนที่เรียกว่าไตรจีวร แต่เมื่อรับกฐินแล้วสามารถเก็บผ้าได้เกินสามผืน เพราะคำว่าอดิเรกแปลว่า เกิน ในที่นี้หมายถึง เก็บผ้าไว้ได้เกินกว่าที่เคยมีเคยใช้สามผืน
  5. พระภิกษุจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อพระภิกษุเดินทางไป ณ ที่ใด อุบาสก อุบาสิกา ถวายผ้าจีวร พระภิกษุสามารถรับและครองจีวรนั้นได้

อานิสงส์ดังกล่าวนี้พระภิกษุจะได้รับเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 โดยการนับแบบจันทรคติ ต่อจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติจนกว่าจะได้รับอานิสงส์ในปีต่อไป

ในยุคต้นพุทธกาล เมื่อถึงฤดูกาลกฐิน พระภิกษุสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าทำจีวร ด้วยการเดินไปตามกองขยะคุ้ยเขี่ยหาผ้าผืนเล็กผืนน้อย ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ครั้นได้ตามต้องการแล้วก็นำมาซักให้สะอาดตากให้แห้งแล้วนำมาเย็บต่อๆกัน การเย็บผ้าผืนเล็กผืนน้อยต่อกันเข้า เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันเป็นสังฆสามัคคี นับเป็นกิจสงฆ์อย่างหนึ่ง เมื่อได้ผ้าผืนใหญ่ขนาดที่จะทำจีวรได้แล้วจึงนำเย็บเป็นจีวร  กระบวนการเย็บจีวรตามพระบรมพุทธานุญาตนี้ พระภิกษุต้องใช้ไม้มีขอบสี่ด้าน มาขึงผ้าให้แน่นเพื่อจะเย็บได้สะดวก ไม้สะดึงที่ขึงผ้านี้แหละ ภาษาบาลีเรียกว่า กฐิน การนำผ้ามาขึงที่ไม้สะดึงแล้วช่วยกันเย็บนี้เรียกว่า กรานกฐิน

ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตเพิ่มเติมให้ ทายกทายิกานำผ้ามาถวายแก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อกรานกฐินได้ เพื่อถวายความสะดวกแก่พระภิกษุ ลดภาระการแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองขยะ เดินหน้าทำจีวรได้เลย เมื่อเย็บเสร็จก็ย้อมแล้วพิจารณาถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่คณะสงฆ์เห็นว่าเหมาะสม

ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวไกล ร้านค้าต่างๆจำหน่ายผ้าจีวรมากมาย ทายกทายิกาผู้ปรารถนาจะถวายผ้าไตรจีวรเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสได้กรานกฐิน ก็ไปซื้อผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปที่ได้ ตัดเย็บย้อมเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุสงฆ์รับผ้าจีวรสำเร็จรูปมาทำสังฆกรรมกฐินและคณะสงฆ์ที่ร่วมสังฆกรรมอนุโมทนา เพื่อได้อานิสงส์ร่วมกัน

พุทธศาสนิกชนผู้มีความขวนขวายแสวงหาผ้าไตรจีวรมาถวายพระสงฆ์ ย่อมได้บุญตามบุญกริยาวัตถุหลายประการตามกิจกรรมที่จัดทำกันขึ้น การถวายผ้าจีวร ถือว่า เป็นการให้ทานในข้อต้นแห่งบุญกิริยาวัตถุ แต่ถ้าถวายผ้ากฐิน เป็นทานพิเศษเรียกว่า กาลทาน เพราะหนึ่งปีถวายผ้าเพื่อกรานกฐินได้ 1 ครั้งต่อ 1 วัด นับเป็นทานที่กระทำได้ยากจึงมีบุญมาก มีอานิสงส์มาก เพราะได้บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ได้บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการสืบทอดสังฆกรรมตามพระบรมพุทธานุญาตให้ยืนยาวต่อไป การรักษาและสืบทอดพระธรรมวินัยคือ การสืบทอดอายุพระพุทธศาสนานั่นเอง

ในวาระพิเศษแห่งฤดูกาลถวายผ้า เพื่อให้พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในอารามต่างๆ ได้กรานกฐินและได้รับอานิสงส์กฐินนี้ ขอส่งความปรารถนาอนุโมทนาแก่ท่านพุทธศาสนิกชนที่ขวนขวายบุญใหญ่จากกาลทานที่สมัครสมานสามัคคีทำกันอยู่ทุกมุมโลกในขณะนี้ จงมีแต่ความสุขสงบเย็นภายใต้ร่มธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกท่านทุกคน ทุกคืน ทุกวันเทอญ

วันที่ 23 ตุลาคม 2561 เวลา 20.07 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

 

สำนักปฏิบัติธรรม

หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก หรือ วรรณกรรมอื่นๆ ในพระพุทธศาสนาจะพบว่า การบวชของภิกษุ หรือ ภิกษุณีส่วนใหญ่มีจุดประสงค์การบวชที่ชัดเจน คือ บวชเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ แม้เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทแก่พระภิกษุในยุคต้นพุทธกาลก็ทรงตรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ก็เป็นการชี้เป้าหมายของการบรรพชาอุปสมบทที่ชัดเจนว่า เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ หรือ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ในคำประทานการบรรพชาอุปสมบทนั้นยังตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า “เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เป็นวิถีที่จะบรรลุถึงพระนิพพาน” หรือ การทำที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง การประพฤติพรหมจรรย์นี่เอง ปัจจุบันนี้เรียกกันง่ายๆ ว่า การปฏิบัติธรรม เมื่อค้นคว้าต่อไปก็จะพบว่า การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การปฏิบัติไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือ บางแห่งก็ใช้คำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา

รูปแบบของการประพฤติพรหมจรรย์ในสมัยต้น กลาง หรือปลายพุทธกาล ก็คล้ายๆ กันคือ เมื่อพระภิกษุบวชแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักของพระพุทธเจ้าตามสมควรแล้ว เมื่อมีพระเถระหรือพระมหาเถระที่มีพรรษายุกาลมาก มีความรู้ด้านพระธรรมวินัยเป็นอันดีมากราบลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไปเจริญสมณธรรมในป่า หรือ อีกนัยหนึ่งมาขอกัมมัฏฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วไปหาสถานที่สงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จะมีพระภิกษุที่พรรษาอ่อนกว่า ขออนุญาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตามพระมหาเถระเหล่านั้นไปบำเพ็ญสมณธรรมด้วย

วรรณกรรมบาลียังระบุว่า จำนวนพระภิกษุที่มากราบลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรมนั้น จำนวน 30 รูปบ้าง 100 รูปบ้าง ตามความเหมาะสม การบำเพ็ญสมณธรรมนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรมที่รับฟังมาจากสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

เมื่อทำความเข้าใจเรื่องประเพณีการบวช จุดประสงค์การบวช การประพฤติพรหมจรรย์ การบำเพ็ญสมณธรรม และการแสวงหาสถานที่สำหรับบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว เราก็คงจะเห็นวิวัฒนาการของสำนักปฏิบัติธรรมที่สืบทอดมาตามลำดับอย่างชัดเจน แม้ในสมัยพุทธกาลพระสาวกทั้งหลายจะจาริกเคลื่อนที่ไปในสถานที่ต่างๆ มิได้เป็นหลักแหล่ง แต่พระอารามต่างๆ ที่อุบาสกอุบาสิกาสร้างถวายสงฆ์ที่มาจาก 4 ทิศนั้นล้วนเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมทั้งสิ้น

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรา มีพระภิกษุสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาสนใจการปฏิบัติธรรมกันมากมาย จึงมีผู้มีจิตศรัทธาสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใคร่ธรรมเหล่านี้ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกันอย่างสะดวก สำนักปฏิบัติธรรม คือ สถานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายนั่นเอง สำนักปฏิบัติธรรมเหล่านี้ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าปฏิบัติธรรมในเรื่องต่างๆ ตามสมควรเช่น

  1. ที่พักอาศัย สงบ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามความจำเป็นแก่ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมตามสมควร เพราะผู้มุ่งปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ นำกาย วาจา และใจสู่การปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
  2. การเดินทางไปมาสะดวก สถานที่ปฏิบัติธรรมไม่ใกล้ไม่ไกลชุมชนนัก ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก เมื่อมีความจำเป็น เช่น ป่วยไข้กะทันหันจำเป็นต้องใช้หยูกยาก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
  3. มีพระมหาเถระผู้รู้พระธรรมวินัยดี มีปฏิปทาเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป คอยให้คำแนะนำเมื่อมีข้อข้องใจหรือมีเหตุติดขัดในการปฏิบัติธรรมที่กำลังดำเนินไปนั้น ให้ดำเนินต่อไปได้ด้วยดีไม่มีข้อขัดข้อง
  4. มีกัลยาณมิตรที่เข้าใจกัน เป็นผู้ใฝ่ธรรมเหมือนกัน คอยเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน เพื่อสนับสนุนให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปตามสมควรแก่ความพากเพียรพยายามที่ทุ่มลงไปอย่างเต็มที่
  5. อาหารที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” คนที่ความหิวบีบคั้นย่อมปฏิบัติธรรมได้ลำบาก อาหารที่รับประทานแล้ว ช่วยกำจัดความหิว มิให้กระวนกระวาย อาหารไม่มากมายจนเป็นเหตุให้ง่วงเหงาหาวนอน ย่อหย่อนผ่อนคลายความเพียร แต่ต้องเพียงพอต่อการยังอัตภาพให้เป็นไปอย่างผาสุก ไม่มีโทษใดๆ แอบแฝง เพิ่มพลังเพิ่มแรงให้บำเพ็ญความเพียรต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง
  6. อากาศสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป จนเป็นเหตุป่วยไข้ได้ง่าย สถานที่อยู่ต้องโล่งโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ปิดทึบอึดอัด อากาศดีช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีความสดชื่นเบิกบาน ไม่ฟุ้งซ่าน หรือ ง่วงเหงาซึมเซา
  7. วิธีปฏิบัติธรรมมีความเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ไม่อึดอัดรำคาญ ต้องทดสอบตรวจสอบให้แน่ชัดว่า การยืน เดิน นอน หรือ นั่งท่าไหน เลือดลมเดินสะดวก ส่งเสริมการภาวนาให้ดำเนินไปสู่ความสงบและมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างสม่ำเสมอ

นับเป็นโชคดี ประเทศไทยมีสำนักปฏิบัติธรรมกระจายอยู่ทุกพื้นที่ พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย ผู้ปรารถนาหาโอกาส หาสถานที่ฝึกฝนอบรมตนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวตามความสะดวกตามสติกำลัง นับเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างสมดุลทั้งกายและจิต ที่พุทธศาสนิกชนเห็นคุณค่าแห่งการภาวนาแล้วช่วยกันเสียสละกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์สร้างกันขึ้นมาด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง

ประโยชน์ของสำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดคือ

  1. ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้สมาทานศีลอันเป็นเหตุแห่งการยุติการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับตนเองและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่สังคมทั้งในขณะที่กำลังปฏิบัติธรรมและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  2. ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญสมาธิภาวนา ได้เพิ่มพูนสติสัมปชัญญะอันเป็นธรรมะที่จำเป็นต่อการรักษาจิต รักษาชีวิต รักษาทรัพย์สิน ให้ดำรงอยู่อย่างถูกต้องดีงาม ปลอดภัยและยั่งยืน
  3. ส่งเสริมการดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทด้วยการเจริญสมาธิภาวนาที่ฝากกายใจไว้ที่สติ ตามหลักแห่งพระปัจฉิมโอวาทว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” การเจริญสมาธิภาวนาคือ การดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ทุกลมหายใจ ทุกความเคลื่อนไหว และทุกก้าวย่าง
  4. หน้าที่ร่วมกันของของสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คือ ส่งเสริมคนรักดีให้ได้ทำดี พูดดี คิดดี คบคนดีและอยู่ในสถานที่ดีๆ อย่างปลอดภัย ได้ประกอบกรรมดีทางกาย วาจา ใจ ตามแรงปรารถนาแห่งมหากุศลที่ตนปรารถนาแล้ว
  5. สำนักปฏิบัติธรรมส่งเสริมการนำเอาธรรมะที่เป็นองค์ความรู้ทั้งหลายมาปฏิบัติให้เป็นจริงๆ ผ่านกิจกรรมและข้อวัตรปฏิบัติอันสอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่พร้อมใจกัน กำหนดหมาย ยอมรับด้วยความเต็มใจ ปฏิบัติตามร่วมกัน เพื่อความสมัครสมานสามัคคีสงบสุขของผู้ร่วมปฏิบัติทุกคน ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ เป็นพลังหนุนให้มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับพุทธธรรมยิ่งขึ้น
  6. ส่งเสริมความสงบสุขของสังคม หมู่บ้าน ตำบล อำเภอหรือจังหวัดใด มีสถานปฏิบัติธรรมมาก ประชากรในท้องถิ่นนั้นสนใจการปฏิบัติธรรมมาก จำนวนอาชญากรรม โจรกรรม จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ลดความล่มสลายของครอบครัว ยุติการกล่าวร้ายแก่กันอย่างไร้สติ ลดอุบัติเหตุอุบัติภัยทุกประเภทลงได้อย่างมากมาย เป็นที่ประจักษ์กันมาแล้วว่า สำนักปฏิบัติธรรมที่มีอยู่โดยทั่วไปมีแต่คุณไม่มีโทษใดๆ ยิ่งมีสำนักปกิบัติธรรมมากเท่าไร ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาก็มีมากเท่านั้น เพราะความเจริญอย่างยั่งยืนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่พุทธบริษัท นำธรรมะมาปฏิบัติจนได้ผลเป็นความสงบร่มเย็นแล้วช่วยกันรักษา และสืบต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปด้วยการตระหนักในคุณค่า มิใช่สักแต่ว่าทำตามๆ กันมา

แม้สำนักปฏิบัติธรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย และมีสาขาในต่างประเทศหลายๆ แห่งในเวลานี้ จะมีวิธีสอนในรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่หลักการร่วมที่เหมือนกันคือ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสงบพบปัญญา เข้าใจชีวิตและโลกตามความเป็นจริง อันจะทำให้ผู้ปฏิบัติดำรงชีวิตอยู่ในโลกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกเวลานาทีอย่างรู้เท่าทัน ด้วยจิตใจที่มั่นคงสงบเย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ธรรมะที่ได้ปฏิบัติแล้ว ดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า             “ธัมโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ ธรรมะที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” สถานที่ปฏิบัติธรรมจึงเป็นแดนสุขาวดีบนโลก ที่จะมอบความสุขให้แก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกคน

วันที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลา 16.30 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

รำลึกถึงพ่อหลวงร.9 ของปวงชนชาวไทย

*****************

 เมื่อเดือนตุลาคมเวียนมาบรรจบครบรอบปีอีกครั้งหนึ่ง พสกนิกรผู้มีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พากันรำลึกถึงพระองค์แล้วต่างขวนขวายสร้างความดีทางกาย วาจา และใจ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีแก่ปวงชนชาวไทยเป็นอเนกอนันต์ มานานกว่า 70 ปี พลังรัก พลังศรัทธา ที่พสกนิกรมีต่อพระองค์ท่านไม่มีวันที่จะลบเลือนจางหายไปจากใจได้ แม้พระองค์จะจากไปนานเพียงใดก็ตาม

ภาพแห่งพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญแก่พสกนิกรวันแล้ววันเล่า ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาว ผ่านความยากลำบากเหลือคณา ได้รับการถ่ายทอดโดยสื่อต่างๆ เพื่อให้พสกนิกรที่รักพระองค์ท่านได้รับรู้ รับทราบ รำลึกถึง เคารพบูชา ผลงานที่พระองค์ได้ฝากไว้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุด” การที่พสกนิกรผู้จงรักภักดี ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามรอยแห่งพระราชกรณียกิจและรอยแห่งธรรมที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นต้นแบบตลอดพระชนม์ชีพ ล้วนเป็นการปฏิบัติบูชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่ประเสริฐก่อให้เกิดผลดี มีความสุขแก่ผู้ปฏิบัติและสังคมโดยส่วนร่วม

ในฐานะที่เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากพระองค์อย่างเป็นทางการในนามตามกฎหมายว่า เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก มีความประทับใจพระองค์ในฐานะที่พระองค์นำธรรมะมาปฏิบัติตามหน้าที่แห่งพระประมุข เพื่อประโยชน์และความสุขของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง ที่พสกนิกรได้พบได้เห็นได้ประจักษ์มาตลอดเวลา 70 กว่าปี พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมและสังคหวัตถุธรรมที่พระธรรมราชาทั้งหลายปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

พระองค์ทรงเป็นประมุขในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังพัฒนา พระองค์ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้วางแผน เป็นผู้ทดลอง เป็นผู้ปฏิบัติการ เป็นนักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ที่เน้นการพัฒนาอย่างสมดุลและรอบด้าน เป็นเพื่อนเดินทางในด้านการพัฒนาประเทศอย่างเข้มแข็ง พระองค์ทรงเน้นหนักยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วแผ่นดินไทย ให้พอมี พอกิน พอใช้ พออยู่ พอใจ อยู่เย็นเป็นสุข ผ่านโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4000 กว่าโครงการ ทรงแสวงหาและพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศเขตขันธสีมาของพระองค์ได้มีปัจจัยการผลิตอย่างพอเพียง ทรงจัดสรรและบริหารจัดการดิน ให้มีความพร้อมที่จะรองรับเกษตรกร ผู้มีความฝันจะพลิกฟื้นผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเงินเป็นทองได้สานฝันของตนให้เป็นจริง

แม้การพัฒนาอุตสาหกรรมจะมีความก้าวหน้าไปไกล ตามความเจริญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่พระองค์ตระหนักเสมอว่า งานด้านเกษตรกรรมก็ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างศูนย์ศึกษาด้านการเกษตรมากมายหลายมิติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แล้วนำมาปรับปรุงใช้ในการทำมาหากินให้สุขสบายได้ตามเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวย พระองค์ได้ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อการวิจัยทดลองเรื่องราวต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมิเคยหยุดหย่อน

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักวิจัยด้านการพัฒนาการเกษตรเชิงประจักษ์ พระองค์ได้ลงไปหาข้อมูลอย่างถึงลูกถึงคนระดับปฐมภูมิจริงๆ เช่น พสกนิกรทั้งหลายคงเคยเห็นภาพที่พระองค์ประทับบนพื้นดินที่ไม่ต้องปูลาดด้วยสิ่งใดๆ คลุกคลีพูดคุยกับชาวบ้านธรรมดาแม้เสื้อก็ยังมิได้สวมใส่ให้เรียบร้อย ไม่มีขบวนต้อนรับ ไม่มีกองเกียรติยศ  กลางท้องทุ่งถิ่นห่างไกล ก่อนที่พระองค์จะมีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับแหล่งน้ำขนาดเล็ก พระองค์ลงไปรับข้อมูลจากชาวบ้านที่อาศัยปลาจากแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับยังชีพ อาศัยผันน้ำเข้ามาในนาเพื่อปลูกข้าวยังชีพ เป็นการได้รับข้อมูลภาคสนามเชิงประจักษ์แล้ววางยุทธศาสตร์อย่างตรงจุด เกิดประโยชน์สุขสูงสุดแก่ประชาชนในท้องที่ของการพัฒนาอย่างทั่วถึงจริงๆ

ภาพแห่งนักเก็บข้อมูลภาคสนามที่พระเจ้าแผ่นดิน แขวนกล้องถ่ายรูปไว้ที่พระศอ หรือ คอ ถือแผนที่ไว้ในพระหัตถ์ หรือ มือ ประทับอยู่ในจิตใจของปวงชนชา

วไทยมิรู้ลืม ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการบริหารจัดการ น้ำ ที่ดิน การวางแผนปลูกพืชแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม เพื่อการยังชีพและการจำหน่วยอย่างได้ผลดี ล้วนเป็นผลที่ตกผลึกแห่งการศึกษาวิจัยค้นคว้ามาจากนักวิจัยคลุกฝุ่นภาคสนามพระองค์นี้ พระองค์เข้าใจธรรมชาติ ดิน น้ำ ชีวิต เศรษฐกิจ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วนำมาผสมผสานบูรณาการอย่างกลมกลืน เป็นที่มาแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ครอบคลุมทุกมิติให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ พอใจ อยู่เย็น เป็นสุข

วันเวลาที่ผ่านมากว่า 70 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จไปทั่วทุกท้องถิ่น พระองค์รู้จักผืนแผ่นดินทุกตารางนิ้วที่พระองค์ปกครองอย่างประจักษ์แจ้ง การที่พสกนิกรของพระองค์ส่วนใหญ่เรียกพระองค์ง่ายๆ ว่า พระเจ้าแผ่นดิน จึงเป็นการประกาศความจริงให้โลกได้ทราบว่า เป็นพระนามที่มาจากพระราชกรณียกิจของพระราชาพระองค์นั้น พระองค์เป็นเจ้าฟ้า แต่มาประทับเคียงข้างชาวดิน ชาวดินต่างรักพระองค์ท่านมิมีวันสร่างซา พระองค์ประทับอยู่ในใจของชาวดินทั่วถิ่นสยาม พระองค์เป็นเจ้าหัวใจของปวงชนชาวสยาม พระองค์จึงทรงพระนามว่า “พระเจ้าแผ่นดิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความรักปวงชนชาวไทยดั่งพ่อรักลูก รักอย่างซาบซึ้ง รักอย่างผูกพัน ไม่มีสักวันที่ไม่รักและไม่คิดถึง แม้พระวรกายของพระองค์จะจากไป แต่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านยังสถิตในดวงใจลูกหลานไทยทุกคน พระองค์ยังคงเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ เป็นพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยสืบไปนิรันดร์ไม่มีวันลืมเลือน

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์ เขียนรำลึกถึงพ่อหลวง ในวาระที่ได้จัดการปฏิบัติสมาธิภาวนา ณ ศูนย์ภาวนาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสาขาเมืองไนล์ รัฐมิชิแกน เพื่อถวายแด่พ่อหลวงในวาระแห่งการเสด็จสู่สวรรคาลัยครบสองปีถ้วน

วันที่ 13 ตุลาคม 61 เวลา 17.42 น.

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

 

 

 

รายงานโครงการ เสริมทักษะภาษาอังกฤษแก่พระธรรมทูต

ทุกครั้งที่มีการประชุมสมัชชาสงฆ์ครั้งสำคัญ พระธรรมทูตที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะปรารภเสมอว่า พุทธศาสนิกชนที่สามารถพูดภาษาไทยได้และพูดภาษาไทยไม่ได้มาร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนากันมากหน้าหลายตา พระธรรมทูตส่วนมากจะแสดงธรรมเป็นภาษาไทย พุทธศาสนิกชนที่ฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถรับทราบว่า กิจกรรมทางพระพุทธศาสนานั้น มีความหมายว่าอย่างไร สื่อสารพุทธธรรมด้านใดบ้าง จึงสมควรที่พระธรรมทูตจะได้แสดงธรรมเป็นภาษาอังกฤษบ้างเพื่อให้ท่านพุทธศาสนิกชนที่มิใช่คนไทยจะได้เข้าใจร่วมกันได้

ที่ประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาจึงได้นำกุศลเจตนาของพระธรรมทูตดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันและหาทางที่จะสนองกุศลเจตนาดังกล่าวเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่ประชุมสมัยวิสามัญสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาจึงมอบหมายภารกิจดังกล่าวให้แก่พระวิเทศสิทธิธรรมาภรณ์ รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกานำไปพิจารณาและหาทางจัดโครงการเสริมทักษะภาษาอังกฤษแก่พระธรรมทูตเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขึ้นสักโครงการหนึ่ง

ท่านรองประธานฯสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้ประสานงานคณะกรรมการอำนวยการสมัชชาสงฆ์ฯและพระธรรมทูตจิตอาสาจำนวนหนึ่งร่วมปรึกษาหารือกันหลายครั้งจนตกผลึกเรื่องสาระการเรียนรู้ร่วมกันว่าจะเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องนำมาใช้งานบ่อยๆ

บทสรุปจากการปรึกษาหารือจึงมาลงตัวที่ว่า เบื้องต้นควรจัดสาระการเรียนรู้ที่พระธรรมทูตจะต้องใช้บ่อยๆ 4 เรื่อง คือ

  1. การสอนสมาธิแบบง่ายๆเป็นภาษาอังกฤษที่ผู้ปรารถนาจะมาปฏิบัติสมาธิภาวนาปฏิบัติได้เลย
  2. การให้โอวาทคู่บ่าวสาวที่มาขอพรจากพระภิกษุสงฆ์เป็นภาษาอังกฤษด้วยหลักการครองเรือนแบบง่ายๆ นำไปใช้ได้จริงๆ
  3. การกล่าวสังเวคกถา ในงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ทำพิธีมาติกาบังสุกุลก่อนเผา หรือ ฝังศพ ตามประเพณีแบบชาวพุทธ
  4. อวยพรวันเกิด แก่ผู้ที่มาทำบุญวันเกิด เพื่อความสุขสงบเย็นในชีวิต ด้วยการใช้หลักธรรมะภาคภาษาอังกฤษที่เจ้าของวันเกิดฟังเข้าใจและมีความเลื่อมใสนำไปปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตต่อไป

เมื่อทีมงานของท่านรองประธานสมัชชาสงฆ์ฯฝ่ายเผยแผ่ ร่วมปรึกษาหารือและตกลงว่าหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะภาษาอังกฤษออกมาอย่างนี้ ท่านรองประธานฯ ท่านเลขาธิการสมัชชาฯและอาตมาจึงร่วมกันจัดทำสาระการเรียนรู้ธรรมะภาคภาษาอังกฤษ ขนาดสั้นที่ใช้กล่าวตามงานต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างในการแสดงธรรมอันครอบคลุมหลักสูตรทั้ง 4 เรื่องที่พระธรรมทูตต้องการ

ท่านรองประธานสมัชชาฯฝ่ายเผยแผ่ ต้องการให้พระธรรมทูตทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นแปล เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย จึง เตรียมบทสวดมนต์แปลมาด้วย ท่านเลขาธิการสมัชชาฯได้เตรียมบทแผ่เมตตามาด้วย เพื่อให้พระธรรมทูตคุ้นเคยกับการแผ่เมตตาเป็นภาษาอังกฤษ อันจะทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาไทยได้เข้าใจว่า คำที่พระนำแผ่เมตตานั้นมีความหมายว่าอย่างไร

เมื่อได้เตรียมหลักสูตรและสาระการเรียนรู้พร้อมแล้ว ท่านรองประธานสมัชชาฯฝ่ายเผยแผ่ หัวหน้าโครงการเสริมทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ประชาสัมพันธ์ให้พระธรรมทูตที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ได้ทราบโดยทั่วกัน เวลาผ่านไป 1 เดือน ท่านหัวหน้าโครงการรายงานมาให้ทราบว่า พระธรรมทูตเข้าร่วมโครงการ 24 รูป จึงได้ประสานงานไปยังพระครูสุตธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรม เมืองซานอันโตนิโอ ได้รับเป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยสี่ เพื่อสนับสนุนโครงการนี้อย่างเป็นทางการ พุทธศาสนิกชนชาววัดพุทธปัญญาทราบข่าวอันเป็นกุศลนี้ว่า อาตมาจะเดินทางไปช่วยงานด้านวิชาการในโครงการเสริมทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่พระธรรมทูต จึงร่วมถวายปัจจัยสนับสนุนโครงการนี้ 500 ดอลล่าร์ ได้นำไปมอบแก่พระครูสุตธรรมวิเทศ เจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-6 ตุลาคม 2561 ณ วัดศรัทธาธรรม เมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส พระเทพพุทธิวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้กรุณามาเป็นประธานเปิดงาน สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พระธรรมทูตที่เข้าอบรมเป็นอย่างมาก โดยท่านให้โอวาทโดยย่อว่า

“การมาปฏิบัติหน้าที่ของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกายุคแรกนั้น พุทธศาสนิกชนที่มาทำมาหากินนิมนต์มาปฏิบัติศาสนกิจ หรือทำพิธีกรรมเป็นการชั่วคราว แล้วกลับประเทศไทย ต่อมายุคที่ 2 คือ ยุคที่พุทธศาสนิกชนที่กระจายตัวกันในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามกำลังศรัทธาของตน เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทางพุทธศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรมแบบชาวพุทธไทย การทำงานของพระสงฆ์ในยุคนี้จึงไม่ต้องมีทักษะในด้านการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมากนัก งานที่เกี่ยวกับเอกสาร หรือ การสื่อสารกับชาวท้องถิ่นได้รับการช่วยเหลือจากพุทธศาสนิกชนไทยที่มีทักษะทางภาษาสูงที่มาจบการศึกษาและทำงานที่อเมริกา จนงานทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี

ขณะนี้ชุมชนไทยที่กระจายตัวอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างวัดและสำนักสงฆ์น้อยใหญ่กระจายทั่วเกือบทุกรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมากกว่า 120 วัด หากรวมวัดของพระสงฆ์ไทยทั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกายและฝ่ายมหานิกาย น่าจะมีจำนวนวัดและสำนักสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 150 วัด ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ 3 เป็นยุคที่วัดต่างๆ หลายวัดได้สร้างเสร็จสิ้นตามโครงการที่ชุมชนของตนต้องการ แต่ส่วนใหญ่ยังมีหนี้สินกับธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งของอเมริกา เพราะเงินที่ก่อสร้างอาคารเพื่อการใช้สอย และเงินซื้อที่ดินสร้างวัด ต้องกู้มาจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน แล้วพุทธศาสนิกชนในแต่ละชุมชนหาเงินช่วยกันผ่อนส่งแก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อวัดแบบไทยๆ ได้ปรากฏตัวขึ้นมาในชุมชนใด ก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจให้คนท้องถิ่นคือ ชาวอเมริกันเองและเพื่อนชาวพุทธจากเอเซีย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโอนิเซีย เนปาล กัมพูชา เข้ามาทำบุญและร่วมกิจกรรมมากขึ้นทุกวัน

แม้ในช่วงหลังทางมหาเถรสมาคมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมพระธรรมทูตมาแล้ว 20 กว่ารุ่นก็ตาม เมื่อมาปฏิบัติหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังต้องการเสริมทักษะในการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทางสมัชชาสงฆ์ฯ เห็นความสำคัญของแรงปรารถนาของพระธรรมทูต และเพื่อขยายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่คนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น จึงเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา”

เมื่อท่านประธานสมัชชาฯ เปิดโครงการเสริมทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ทีมงานด้านวิชาการประกอบไปด้วย

พระวิเทศสิทธิธรรมาภรณ์ รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาฝ่ายเผยแผ่

พระวิเทศรัตนาภรณ์ เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา

ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ  วิทยากรอาสาสมัครด้านวิชาการโครงการเสริมทักษะเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่พระธรรมทูต ได้ร่วมกันปฐมนิเทศจนกระทั่งถึงเวลาฉันภัตตาหารเพล จึงพักฉันภัตตาหารเพล

เมื่อฉันภัตตาหารเพลแล้ว จึงเริ่มรายการภาคบ่ายทันที วิธีการเรียนจะคล้ายๆ กันทุกวัน คือ ให้พระสงฆ์ทุกท่านอ่านเอกสารทำความเข้าใจเรื่องสมาธิภาวนา อานาปานสติและสติปัฏฐานกันอย่างละเอียด ใครอ่านแล้วสงสัยศัพท์ไหน ก็ศึกษาศัพท์นั้น ทุกแง่ทุกมุมด้วยการหาข้อมูลด้านการให้ความหมาย สัญลักษณ์แห่งการออกเสียงเน้นหนักจุดใด ปล่อยตามธรรมชาติจุดใด ตามพจนานุกรมออนไลน์ ใครสงสัยเนื้อหาประเด็นใดก็ร่วมกันอภิปรายจนชัดเจนทุกประเด็น การเรียนแบบนี้ดำเนินไปด้วยความสนุกสนาน เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่เวลา 13.00 -17.00 น. โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายแต่ประการใด

ภาคบ่ายก็เรียนกันแบบลึกซึ้งชัดเจนทุกวันจนถึงบ่าย 5 โมงเย็น แล้วพักผ่อน ชำระร่างกาย ทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้วภาคค่ำก็มีการพูดภาษาอังกฤษตามเรื่องที่เตรียมไว้ตามลำดับคือ เรื่อง ให้โอวาทคู่บ่าวสาวงานแต่งงาน อวยพรวันเกิด การสอนภาวนา และวันสุดท้าย เป็นการกล่าวธรรมสังเวชในงานบำเพ็ญกุศลศพ หรือ ก่อนการทำพิธีเผาศพ

หลักสูตรการอบรมทั้ง 4 วัน เป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่าและเห็นความก้าวหน้าของการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อธรรมะอย่างน่าพอใจด้วยการสังเกตจากการสาธิตการแสดงธรรมะภาคภาษาอังกฤษ และนำสมาธิด้วยการปฏิบัติจริงๆ นับเป็นหลักสูตรการศึกษาที่เรียนกันอย่างมีความสุข เพลิดเพลินด้วยการขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญา

ในฐานะเป็นวิทยากรอาสาของโครงการนี้ รู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมช่วยเหลือโครงการนี้ด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังความสามารถและกำลังทรัพย์บ้างเล็กน้อย จากการสังเกตเห็นความก้าวหน้า ด้านความคิดในการแสวงข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูต ผ่านการแสดงออกในการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติการและกิจกรรมต่างๆ จะผลักดันให้พระธรรมทูตได้กลับไปพัฒนาตนเองได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

สิ่งสำคัญ คือ ความตื่นรู้ ความกระตือรือร้นในการแสวงหาข้อมูลการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะนำพาให้พระธรรมทูตเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ของการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากเจ้าของภาษาอังกฤษทั้งแบบอังกฤษและอเมริกันผ่านการค้นหาจากเว็บไซด์ ยูทูปและเฟซบุ๊ค จะเป็นคุณูปการะต่อการพัฒนาขีดศักยภาพแห่งการเผยแผ่ธรรมะโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อได้อย่างชำนาญขึ้น

สุดท้ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการเสริมทักษะภาษาอังกฤษในคราวนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาความรู้ความสามารถของพระธรรมทูต เพื่อสนองพระพุทธปฐมบรมราชโองการที่ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก จงประกาศพรหมจรรย์ คือการดำเนินชีวิตอย่างดี ไม่มีความทุกข์ อนุเคราะห์โลก ให้กว้างขวางออกไปอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ” ตามพระพุทธประสงค์ทุกประการเทอญ

วันที่ 7 ตุลาคม 2561 เวลา 18.12 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา

 

 

คิดมาก เครียดมาก คิดน้อย เครียดน้อย หยุดคิด ผ่อนคลาย

ชาวพุทธ คงได้ยิน คำว่า สังขาร มาอย่างคุ้นเคย จึงนำมาสนทนากันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตของผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายสืบไป

คำว่า สังขาร แปลตามรูปศัพท์ว่า การปรุงแต่ง หรือ สิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง หากมองรอบๆตัวจะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอะไร จะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนเป็นสังขาร คือ ปรากฏ หรือ เกิดมาจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งนั้น จอคอมพิวเตอร์ที่กำลังพิมพ์ข้อมูลเข้าไป ก็เป็นสังขารชนิดหนึ่งเพราะมาจากการปรุงแต่งด้วยเครื่องประกอบต่างๆมากมาย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่กำลังใช้งานอยู่ก็มีองค์ประกอบของคอมพิวเตอร์อีกมากมายหลายอย่าง ตามเหตุปัจจัยที่เพียงพอต่อการประกอบกันเป็นคอมพิวเตอร์

หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในมือของท่านก็เป็นสังขาร เพราะองค์ประกอบมีมากมายหลายอย่างกว่าจะมาเป็นกระดาษ และเป็นหนังสือพิมพ์ คนส่งหนังสือพิมพ์ ขับรถมาส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านหรือตามสำนักงานล้วนเป็นความเคลื่อนไหว ในเชิงสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของสังขารทั้งสิ้น

ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งสังขารออกเป็น 2 อย่างคือ

  1. สังขารที่มีใจครอง เช่น มนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่
  2. สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น กระดาษ หนังสือ โต๊ะ ตู้เตียง ปากกา กระดาษ แม้แต่น้ำดื่มก็เป็นสังขารเพราะมาจากการประกอบของ ไฮโดรเจน และออกซิเจน

เวลาบ่ายๆ มีคนขับรถนำหนังสือพิมพ์มาส่ง ก็เป็นปรากฎการณ์แห่ง สังขารที่มีใจครอง นำสังขารที่ไม่มีใจครองมาส่ง    เจ้าของบ้านสังขารที่มีใจครองจึงรับหนังสือพิมพ์เอาไว้ ความเคลื่อนไหวบนพื้นพิภพนี้ไม่มีอะไรนอกเหนือจากความเคลื่อนไหว ที่มีสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์แห่งสังขารเท่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสกฎของสังขารทั้งหลายว่า “เกิดมาจากเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไป เสื่อม สลาย และดับไปในที่สุด”

พระนางธรรมทินนาเถรี พระอรหันต์หญิงผู้เป็นเลิศในการแสดงธรรม ได้อธิบายสังขาร ในความหมายว่า ปรุงแต่งเอาไว้ 3 ความหมาย คือ

  1. กายสังขาร การปรุงแต่งกาย สิ่งที่มาปรุงแต่งกายที่สำคัญที่สุด คือ ลมหายใจ นั่นก็หมายความว่า ตราบใดยังมีลมหายใจ อันเปรียบเหมือนกุญแจชีวิตที่เริ่มขึ้นและสืบเนื่อง ธาตุและเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งก็ทำงานได้ต่อไป ตราบใดชีวิตยังสืบต่อไปในฐานะสังขารที่เกิดมาจากการปรุงแต่งตามเหตุตามปัจจัย ชีวิตก็ดำรงอยู่ต่อไป แต่เมื่อลมหายใจยุติลง การปรุงแต่งกายก็ยุติลง สังขารเดินเข้าสู่กฎธรรมชาติ คือ แปรปรวน เสื่อม สลาย และดับไปในที่สุด
  2. วจีสังขาร แปลว่า สิ่งที่ปรุงแต่งวาจา ความตรึกตรอง เป็นปัจจัยสำคัญแห่งการปรุงแต่งวาจา กล่าวคือ ก่อนจะพูดอะไรออกไป ต้องใคร่ครวญ ตรึกตรองเสียก่อน การตรึกตรองเพื่อปรุงแต่งวาจานั้น เป็นไปทั้งสองด้านคือ ปรุงออกมาให้เป็นคำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ คำเท็จก็ได้ หรือ จะปรุงออกมาเป็นคำอ่อนหวาน ไพเราะ ภาษาที่ใช้ร้อยเรียงก็สละสลวยสวยงามอย่างเช่น บทกวี บทเพลงต่างๆและสุนทรพจน์ จำนวนแสนจำนวนล้านชิ้น ล้วนเป็นผลงานแห่งตรึกตรองแห่งวจีสังขารทั้งสิ้น
  3. จิตตสังขาร การปรุงแต่งจิต องค์ประกอบสำคัญที่ปรุงแต่งจิต คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ และความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ ความทรงจำ ความสำคัญมั่นหมายสิ่งต่างๆที่ผ่าน เรียกตามภาษาวัดว่า เวทนา และสัญญา เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต นอกจากสังขารหมายถึงร่างกายและสิ่งของอย่างที่เคยเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้ว สังขารยังหมายถึงความคิด หรือ สิ่งที่มาปรุงจิตให้คิดไปต่างๆนานา นวนิยาย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ภาพวาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆล้วนมาจากสังขารทั้งสิ้น เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ปัจจัยสี่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ภูมิทัศน์ต่างๆอันตระการตาที่ดารดาษอยู่ทั่วพื้นพิภพ ล้วนมาจากจิตตสังขาร สู่งานสร้างสรรค์อันอลังการต่างๆมากมาย เป็นงานสื่อจากจิตภาพ ที่เป็นนามธรรม สู่กายภาพที่เป็นรูปธรรมให้ได้ชื่นชมและใช้สอยประโยชน์อำนายความสะดวกต่างๆเหลือคณานับ สิ่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลกทั้งที่ติดอยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้ล้วน เป็นผลงานของจิตตสังขารทั้งสิ้น จิตตสังขารสร้างงานไว้ให้แก่โลก เป็น 3 ลักษณะ คือ ดี ไม่ดี และกลางๆ สิ่งที่ดีเช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค สิ่งไม่ดี เช่น ยาพิษ อาวุธทุกชนิด ยาเสพติดทุกชนิด สิ่งที่เป็นกลางๆ เช่น แก้วน้ำ จาน เงิน แก้วน้ำเปล่าๆยังไม่ดีไม่ชั่ว หากนำไปใส่ยาพิษก็ไม่ดี หากนำไปใส่นมหรือน้ำส้มดื่มก็จะดีมีประโยชน์ จานเปล่ายังไม่ดีไม่ชั่ว ถ้านำไปใส่อาหาร จะเป็นจานอาหารดี ถ้านำไปใส่ยาพิษจะไม่ดีชีวิตได้รับอันตราย  เงิน ถ้านำไปสร้างสรรค์ปัจจัยสี่ ส่งเสริมการศึกษา เรียนรู้เพื่อ เมตตา ปัญญา และสันติภาพ จะดี แต่ถ้า นำไปสร้างอาวุธฆ่าคน นำไปผลิตยาเสพติดมาทำลายสุขภาพและชีวิตมนุษย์ก็ไม่ดี

การปรุงนั้นจะดี ที่เรียกว่า กุสลา หรือไม่ดี เรียกว่า อกุสลา หรือ เป็นกลางๆ เรียกว่า อัพยากตา ขึ้นอยู่กับว่า ปรุงมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ถ้าปรุงด้วยเมตตา กรุณา สิ่งที่ถูกปรุงมาจะช่วยกันรักษาดูแลชีวิตมนุษย์ เช่น ยารักษาโรคต่างๆ อาหารบำรุงร่างกายต่างๆเกิดมาจากความดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ส่วนปืนหรือระเบิด มีความโหดร้ายอันตรายและความเสี่ยงแฝงอยู่เพราะมันคือ ที่มาแห่งความบาดเจ็บล้มตาย คนที่ออกแบบ ก็ออกแบบมาด้วย ความโลภ เห็นแก่ค่าจ้าง หรือ ผลิตออกมาเพราะความโกรธแค้น หรือ สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาโดยไม่รู้ถึงผลกระทบอะไรที่จะตามมา  คิดได้ว่าทำแล้วได้เงินก็ทำไปโดยไม่ยั้งคิด ปัญญาของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ยังไม่ปลอดภัย ต้องประกอบด้วย สติ รู้จักพิจารณาโดยแยบคายก่อนว่าออกแบบไปแล้ว มีผลกระทบด้านไหนอย่างไรบ้าง ต้องมีสมาธิ คือ ความตั้งใจหนักแน่นบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากความเกลียดชัง ความโลภ หรือ ความไม่รู้ การสร้างสรรค์ต่างๆจึงมีประโยชน์ถ่ายเดียว

การศึกษาของโลกจึงต้องกลับมาทบทวนกันว่า การสอนให้มนุษย์คิดเก่ง คิดเป็นแล้วสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้นั้นก็ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้โลกปลอดภัยต้องสอนให้คนที่คิดเก่ง ออกแบบเก่ง สร้างสรรค์เก่ง ต้องมีความยั้งคิด มีเหตุ มีผล มีความเมตตากรุณาเห็นแก่เพื่อนมนุษย์มากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ตน พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนการบำเพ็ญประโยชน์ไว้อย่างสมดุลว่า เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด พระดำรัสนี้มีความหมายพอเพียงที่จะยังมนุษย์ให้รักกันและยังโลกนี้ให้มีสิ่งตระการตาต่างๆอย่างปลอดภัย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีสงครามทุกรูปแบบและทุกระดับของสังคม อันจะนำไปสู่สันติภาพโลกที่ยั่งยืน

มองโดยความเป็นปัจเจกบุคคล จิตตสังขาร การปรุงแต่งทางจิต คือ ความคิดนี้เอง มีรากฐานมาจาก ผัสสะ คือ การเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การลิ้มรส การถูกต้อง และความน้อมนึก มากระตุ้นให้เกิดความคิด สิ่งที่ผ่านการกระทบบางอย่างกระตุ้นมาก เร้าใจมาก ก็ทำให้คิดมาก บางอย่างไม่น่าสนใจรู้แล้วก็ปล่อยผ่านไปไม่คิดเลย ถ้าคิดมากจนเกินไปจะพบกับสภาพเหนื่อยใจ หรือความเครียด พระพุทธเจ้าตรัสถึงสังขารไว้สองแนวทางว่า  “ปรุงแต่งมากทุกข์มาก ระงับการปรุงแต่งเสียได้เป็นสุข”

หรือ อาจจะใช้ภาษาง่ายๆว่า คิดมากเครียดมาก คิดน้อย เครียดน้อย ไม่คิดอะไร ไม่เครียด

ขอสรุปบทความตามแนวทางพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่แหละว่า ถ้าคิดมาก เป็นทุกข์มาก ก็ลองคิดน้อยๆ ดู หรือ คิดเท่าที่จำเป็น ถ้าหมดความจำเป็นก็พักใจไม่คิดบ้างจะได้เป็นสุข อ่านบทความนี้แล้วใครสนใจนำไปทดลองได้  ส่งเสริมด้วยความเต็มใจ ความสุขกับความทุกข์อยู่ที่ใจของทุกคนแล้ว ทุกคนมีทางเลือกเท่ากัน สุดแล้วแต่จะเลือกสุขหรือทุกข์ ถ้าต้องการความทุกข์และความเครียดก็คิดต่อไป ถ้ารู้สึกเหนื่อยต้องการพักเพื่อความผ่อนคลาย ลองพักจิตด้วยการหยุดคิด มีเพียงความรู้ชัดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปปรุงไปยุ่ง  แล้วสังเกตดูว่าหยุดคิดแล้วจะสุขเพียงใด จงพิจารณาให้เห็นประจักษ์แก่ใจของตนๆ เถิด

วันที่ 28 กันยายน 2561 เวลา 13.48 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.พระมหาจรรยา  สุทฺธิญาโณ

เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา